ตอนที่ 1 รู้จักกับ Cakewalk

          สวัสดีครับ พบกันฉบับแรกกับผมมีดี้แมนในคอลัมน์การใช้งานโปรแกรม Cakewalk pro audio 8.0
ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณ บก. อาจารย์ ปรารถนา ก่อนนะครับที่ให้โอกาสผมมาบรรเลงบทความในนิตยสาร
Overdrive เล่มนี้และเล่มต่อๆ ไปด้วย เอาละครับเรามาเข้าเรื่องกันเลยดีกว่าครับ

          ผมได้รับหน้าที่ให้มาเขียนบทความเกี่ยวกับการใช้งานโปรแกรม Cakewalk pro audio 8.0
( ขอเรียกสั้นๆ ว่า CW8 นะครับ ) เพื่อนๆ นักดนตรีหลายคนคงเคยได้ยินชื่อโปรแกรมนี้และอาจจะเคยสัมผัส
มาแล้วด้วยซ้ำไปเพราะหาได้ง่ายเหลือเกิน แต่ผมจะไม่สนใจว่าใครจะเคยใช้โปรแกรมนี้มาบ้างแล้ว จะมาก
จะน้อยก็ไม่สนจริงๆ ใครที่อ่านเจอคอลัมน์นี้ต้องมาเริ่มต้นกันใหม่พร้อมๆ กันหมด เพราะผมเชื่อว่ายังมีคนที่
ไม่รู้จักโปรแกรม CW8 ตัวนี้แน่นอน และแนวทางในคอลัมน์นี้จะเป็นลักษณะการสอนแบบนำไปใช้งานได้
จริงๆ คำสั่งยากๆ เราไม่สอนเพราะสอนก็ไม่รู้เรื่องเช่นการเขียนคำสั่ง CAL เป็นต้น ( เพราะคุณต้องมีพื้นฐาน
การเขียนโปรแกรมมาบ้าง และผมเชื่อว่าคนที่อ่านคอลัมน์ผมอยู่ตอนนี้คงหาได้สักหนึ่งในพันละมั้ง ) แต่ผมจะ
สอนการใช้คำสั่ง CAL ที่มีมาให้กับโปรแกรมอยู่แล้วแทน แล้วทำไมต้อง CW8 ด้วยละ โปรแกรมอื่นก็มีที่ดังๆ
ก็หลายตัวเช่น Logic, Cubase, Performance เป็นต้น ก็เพราะโปรแกรมที่ว่ามาเหล่านั้นจะทำงานได้ดีบน
เครื่องแมคอินทอช (แมคอินทอช เป็นคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการเป็นของตัวเองที่เรียกว่า MAC OS.
ราคาค่อนข้างแพง) แต่ CW8 จะทำงานบนเครื่อง PC ที่ใช้ Windows95/98 เป็นระบบปฏิบัติการ ซึ่งเป็นคอม
พิวเตอร์ส่วนบุคคลราคาถูก ประสิทธิภาพเยี่ยมพอที่จะทำงานดนตรีได้ไม่มีปัญหาและเหมาะกับงานโฮมสตูดิโอ
เป็นอย่างยิ่ง เรียกว่าเป็นโปรแกรมขวัญใจคนงบน้อยว่างั้นเถอะ

อีกทั้งตัวโปรแกรมยังใช้งานได้ง่ายไม่ซับซ้อนมากเหมือนโปรแกรมดังๆ ที่ผมกล่าวไปข้างต้นแล้ว หลายคนคง
อยากรู้แล้วละสิว่าเจ้า CW8 ตัวนี้มันเก่งแค่ไหน ผมจะยกตัวอย่างศิลปินที่ใช้ CW8 ในการทำงานให้ดูกัน มีดังนี้
Korn, Chumbawumba, No Doubt, 311, Mayfield, K's Choice, The Bloodhound Gang เป็นต้น ยังมีอีกเยอนะ
ครับ นี่แค่ยกตัวอย่างเท่านั้น เอาละครับเล่มนี้เป็นตอนแรกของการใช้งาน CW8 เราก็มารู้จักความเป็นมาและ
คุณสมบัติโดยรวมของ CW8 กันก่อนละกันนะครับ

           โปรแกรมในตระกูล Cakewalk นี้เป็นของบริษัท Twelve Tone Systems ซึ่งก็ได้พัฒนามาหลายเวอร์ชั่น
แล้วโดยปัจจุบันอยู่ที่เวอร์ชัน 8 โดยที่เวอร์ชั่นแรกๆ จะทำงานอยู่บนระบบปฏิบัติการ DOS และได้พัฒนาต่อ
เนื่องมาใช้บน Windows3.X รู้สึกจะชื่อรุ่น Cakewalk Apprentice หรือไงนี่แหละ แต่ที่เริ่มนิยมในบ้านเราก็เป็น
เวอร์ชั่น Cakewalk Express ประมาณเวอร์ชั่น 3 ได้ เป็นเวอร์ชั่นที่นักดนตรีในบ้านเราเริ่มนำมาใช้ในงาน
ดนตรีกันและเริ่มสนับสนุน Audio ก็ตั้งแต่เวอร์ขั่น 4 เป็นต้นมา ( แต่ผมว่ายังไม่ค่อยดีนัก ) หลังจากนั้นก็พัฒนา
มาอย่างรวดเร็วปานลูกโซโล่ของอิงวี่จนถึงเวอร์ขั่น 6 ซึ่งแต่ละเวอร์ชั่นก็เพิ่มเติมพวกเอกเฟกต์ต่างๆ มากขึ้นรวม
ทั้งพัฒนาในส่วนที่เป็น Audio ด้วยแต่ก็ไม่โดดเด่นมากนักจนมาถึงเวอร์ขั่น 7 หน้าตาของโปรแกรมก็เปลี่ยนไป
จากเดิมเลยทีเดียวแต่หลักการใช้งานก็ยังคงง่ายเหมือนเดิม และในเวอร์ขั่นนี้เองที่สามารถเปิดไฟล์เพลงได้
พร้อมกันหลายๆ ไฟล์ ซึ่งผมว่ามันน่าจะมีมาได้ตั้งนานแล้วและล่าสุดก็พัฒนามาจนถึงเวอร์ชัน 8 ซึ่งก็เป็นเวอร์ขั่น
ที่แก้ไขจุดบกพร่องต่างๆ ของเวอร์ขั่น 7 ซะมากกว่า (ผมว่าน่าจะเรียกเวอร์ขั่น 7.5 นะ)

ใน CW8 นี้ได้แบ่งออกเป็น 3 รุ่นด้วยกันคือรุ่น Home studio, Professional และรุ่น Pro audio ซึ่งเราก็จะใช้รุ่น
Pro audio ซึ่งเป็นรุ่นแจ๋วสุดมาเรียนรู้กัน (ไหนๆ มันก็หาโปรแกรมกันได้ง่ายๆ อยู่แล้ว) จริงๆ แล้วรุ่น Pro audio
ยังมีอีกรุ่นคือ Pro audio deluxe ซึ่งจะเพิ่มโปรแกรมต่างๆ อีกกี่โปรแกรมผมก็จำไม่ได้มาให้อีก แต่โปรแกรมเหล่า
นั้นผมว่าเหมือนของเล่นที่เพิ่มเข้ามาซะมากกว่าหรือคนอื่นจะมองไงก็ไม่รู้นะ แต่มันไม่จำเป็นสำหรับเราซักเท่า
ไหร่หรอก จุดเด่นของ CW8 นี้ที่ทางบริษัทผู้ผลิตนำมาเป็นตัวชูโรงเลยก็คือสามารถรองรับออดิโอการ์ดระดับ 24
บิต และอัตราการ Sampling Rate สูงถึง 96 KHz ซึ่งก็ไม่รู้ว่าบ้านเราจะมีไอ้การ์ดคุณภาพสูงขนาดนี้ขายกันหรือ
เปล่า ถ้าใครขายอยู่และอ่านเจอคอลัมน์นี้ก็ฝากบอกกันได้นะ จะช่วยโปรโมทให้ คุณสมบัติอื่นๆ ที่มีก็อย่างเช่น สามารถบันทึกสัญญานออดิโอได้มากถึง 128 แทร็ก ไปพร้อมๆ กันกับ MIDI (สัญญาณออดิโอก็จะเป็นพวกเสียงกีตาร์เสียงร้องที่เราบันทึกเข้าไปนั้นแหละคือมันจะอยู่ในรูปของคลื่นเวฟ) พวกเอฟเฟกต์ต่างๆ สำหรับ MIDI และออดิโออีกเยอะแยะตาแปะไก่ แล้วก็ยังสนับสนุนการเปิดไฟล์ภาพเคลื่อนไหวในโปรแกรมอีกด้วย เรียกได้ว่าคุณสามารถทำดนตรีประกอบภาพเคลื่อนไหวได้เสร็จสรรพในโปรแกรม CW8 ตัวนี้ได้เลย เช่นพวกงานโฆษณาหรือการ์ตูนเป็นต้น ส่วนไฟล์เคลื่อนไหวที่นำมาใช้ได้ก็คือ AVI, MPEG และ QuickTime ซึ่งคนที่ใช้คอมพิวเตอร์ก็คงจะคุ้นๆ กับไฟล์เหล่านี้เป็นอย่างดี และสุดท้ายที่เป็นคุณสมบัติใหม่และเด่นก็คือการจัดการกับสัญญานออดิโอหรือที่เรียกว่า Audio Mixing (ไม่รู้จะแปลเป็นภาษาไทยยังไงถ้าแปลตรงตัวก็จะไม่ค่อยเกี่ยวกันมากนัก) ก็คือเราสามารถจัดการกับพวกสัญญาณออดิโอได้ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มเสียงให้ดังหรือค่อย การแพนซ้ายขวา โดยแค่ลากเม้าส์ไปบนหน้าต่างที่แสดงรูปคลื่นสัญญาณออดิโออยู่ก็จะเปลี่ยนไปตามที่เราลากเส้นทันที คุณสมบัติเด่นอีกอันหนึ่งก็คือ Studio ware Panel คุณสมบัตินี้ช่วยให้คุณสามารถออกแบบส่วนควบคุมฟังก์ชั่นต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นปุ่มปรับดังค่อย ปุ่มแพนซ้ายขวา และอีกหลายอย่างที่คุณสามารถออกแบบเองได้ตามความต้องการ หรือจะใช้ Studio ware สำเร็จรูปที่มีมาให้กับโปรแกรมก็ได้ รู้สึกในเวอร์ชั่นนี้จะมีมาให้หลายตัวเหมือนกัน ในรูปประกอบที่ผมนำให้ดูเป็น Studio ware ที่มีหน้าตาเหมือนกับ Roland SC-88Pro ถ้าคุณใช้ซาวด์รุ่นนี้อยู่ด้วยคุณก็สามารถควบคุมมันผ่านจอคอมพิวเตอร์ของคุณได้เลย ซึ่งทาง Cakewalk เองก็จะออก Studio ware ใหม่ๆ มาให้อยู่เรื่อยๆ แต่ต้องหาดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ของ Cakewalk ในอินเตอร์เน็ตเอาเองนะจ๊ะ ยังมีคุณสมบัติปลีกย่อยอีกมากมายไว้เราค่อยๆ เรียนรู้กันไปละกันครับ

           เมื่อรู้จักโปรแกรม Cakewalk กันไปอย่างคร่าวๆ แต่รัดกุมแล้ว เราก็จะต้องเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้ใช้งานโปรแกรมนี้ได้ อย่างแรกเลยที่ต้องมีแน่นอนก็คือ คอมพิวเตอร์ ซึ่งทาง Cakewalk ก็บอกว่าควรจะเป็นระดับเพนเทียม 100 ขึ้นไป มีแรมซัก 16 เมกเป็นอย่างต่ำ ใช้ระบบปฏิบัติการวินโดว์จะ 95/98 หรือ NT ก็ได้ แล้วก็ต้องมีซาวด์การ์ด้วยนะไม่งั้นไม่เสียงแน่ หรือจะใช้ซาวด์โมดูลแทนก็ได้ โดยต่อเข้าทางซาวด์การ์ดด้วยสายมีดี้หรือบางรุ่นก็สามารถต่อเข้ากับ COM พอร์ตของคอมพิวเตอร์ได้เลย แล้วก็สุดท้ายก็คือ CD-ROM และก็โปรแกรม Cakewalk Pro Audio 8.0 แค่นี้ก็เป็นอันเรียบร้อย

           แถมนิดนึง สำหรับคนที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ระดับ 486 ก็ยังพอใช้ CW8 ได้นะครับให้เพิ่มแรมเยอะๆ แล้วกัน (ถ้าเป็น 386 คิดว่าไม่ไหวครับ) หรือถ้ามีโปรแกรม Cakewalk อยู่แล้วแต่ไม่ใช้เวอร์ชั่น 8 ก็ใช้ได้ครับ เพราะหลักการทำงานก็เหมือนๆ กัน ขอให้เป็นซักเวอร์ชั่น 5 ขึ้นมาละกัน เอาละครับในตอนแรกนี้ก็คงจะพอเพียงแค่นี้ ในเล่มหน้าเราจะมาเริ่มเรียนรู้การใช้งานโปรแกรม CW8 กันเป็นจริงเป็นจังซะที อดใจรอกันหน่อยนะครับ สำหรับเพื่อนๆ ที่มีปัญหาไม่ว่าจะเรื่องโปรแกรม CW ก็ดี หรือต้องการ Studio ware ใหม่ๆ ก็ส่งจดหมายมาได้นะครับ หรือจะส่งทางอีเมล์ก็ได้ที่ midiman99@usa.net เล่มนี้ขอลาไปก่อน สวัสดีครับ


รูปด้านหน้ากล่องของโปรแกรม CW8

ซึ่งจะสังเกตุเห็นเครื่องหมาย 24/96 ซึ่งหมายถึงการรองรับ
ออดิโอการ์ดระดับ 24 บิต Sampling ระดับ 96 kHz ซึ่งเป็น
จุดขายของเวอร์ชั่นนี้



หน้าต่าง Studio ware panel ที่มีหน้าตาเหมือนกับ Roland SC-88Pro



หน้าตาโดยรวมของโปรแกรม Cakewalk Pro Audio 8.0
 

: Home : News&Events : Board : Cool! : Download : About Us : Overdrive : Commusic : Prart Musicschool : VDO :